บทบาทและผลงาน ของ นอร์แมน ซัตตัน

ครูซัตตันมีบทบาทสำคัญ เกี่ยวกับการศึกษาของเมืองไทย และเป็นผู้รับผิดชอบเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาภาษาอังกฤษและพลศึกษาในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ขณะนั้นโรงเรียนใหญ่ๆของรัฐบาลมีไม่กี่แห่ง และครูฝรั่งก็มีไม่กี่คน เป็นที่เข้าใจกันว่าสมัยก่อนนี้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ส่วนมากจะต้องออกมารับราชการ ที่ออกไปประกอบอาชีพส่วนตัวนั้นมีน้อย ฉะนั้นครูซัตตันจึงพยายามผลิตนักเรียนให้มีคุณภาพดีที่สุด ทั้งทางด้านวิชาการและอนามัย โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก เพื่อให้สมกับที่นักเรียนจะเป็นผู้ทำความเจริญให้แก่ชาติในกาลต่อไป

ครูซัตตันจึงเป็นผู้วางโครงการและเพิ่มหลักสูตรวิชาคำนวณและภาษาฝรั่งเศสให้สูงขึ้นกว่าเดิมมาก วิชาตริโกณมิติก็ได้นำมาสอนเป็นครั้งแรกในเมืองไทยสมัยขยายชั้นเรียนนี้ด้วย เป็นการจัดระดับการศึกษาให้เท่าเทียมกับโรงเรียนมัธยมบริบูรณ์ในประเทศอังกฤษ (Matriculation) และคงรักษามาตรฐานหลักสูตรนี้ ตลอดเวลาที่ครูซัตตันรับราชการอยู่ในเมืองไทย การสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงก็เข้มงวดกว่าเดิมเป็นอันมาก ทั้งนี้เพราะต้องการให้ได้นักเรียนที่เก่งจริงๆออกไปศึกษา ณ ต่างประเทศ

ครูซัตตันได้วางหลักสูตรให้นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้เรียนวิชาหลัก ซึ่งหนักทางภาษาอังกฤษและคำนวณ รวมทั้งจริยศึกษาและพลศึกษาควบคู่กันไป แทบทุกบ่ายวันจันทร์มีการสอนตัวอย่างให้บรรดาครูทั้งหลายในโรงเรียนได้ดูเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ นักเรียนทุกคนต้องเป็นลูกเสือและต้องลงสนามฝึกหัดทุกบ่ายวันเสาร์ โดยครูซัตตันเองจะต้องลงมาเดินตรวจดูแลสอดส่องอยู่ด้วยเสมอ ครูซัตตันได้จัดทำกระดานป้าย “จาริกานุสร” ติดตั้งไว้ที่ห้องสมุดของโรงเรียน เพื่อให้เห็นได้ง่ายๆ กระดานป้ายซึ่งครูซัตตันเรียกว่า Honour Boards นี้ จารึกนามของนักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยทุกคนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙ ที่สอบได้ทุนเล่าเรียนหลวง หรือทุนกระทรวงเพื่อไปศึกษาสาขาต่างๆ ณ ต่างประเทศ นามของท่านเหล่านั้นต่อมาภายหลังปรากฏว่า ล้วนแต่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กระจัดกระจายไปตามกระทรวงทบวงกรมต่างๆทั่วประเทศ มีหน้าที่รับผิดชอบสร้างความเจริญให้แก่บ้านเมืองเป็นอันมาก เรื่องนี้ศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัยทุกคนย่อมประจักษ์ดี แทบจะกล่าวได้ว่าในขณะที่เขียนประวัติอยู่นี้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาส่วนมากเคยเป็นลูกศิษย์ครูซัตตันมาแล้วเกือบทั้งสิ้น การที่ครูซัตตันจัดทำ “จาริกานุสร” ซึ่งมีด้วยกัน ๘ แผ่นตั้งแต่สมัยครูซัตตันยังอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก็เพื่อให้เป็นการกระตุ้นและให้กำลังใจแก่นักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยทุกคนที่กำลังศึกษาอยู่ให้เจริญรอยตาม เมื่อครูซัตตันกลับไปนอกแล้ว เคยเขียนมาถามข้าพเจ้าว่า Honour Boards นี้มีเพิ่มขึ้นอีกเท่าใด

ในด้านพลศึกษา ครูซัตตันก็ไม่เคยละเลยวิชาประเภทนี้ ประกอบกับทั้งตัวครูซัตตันเองเคยเป็นนักกีฬาเอกคนหนึ่ง สมัยเมื่อยังศึกษาวิชาครูที่วิทยาลัยเบอโรโรด เคยเป็นแชมเปี้ยนกีฬาหลายประเภท เช่น ฟุตบอล คริกเก็ต กระโดดข้ามรั้ว ฯลฯ และเล่นให้แก่วิทยาลัยนั้นหลายครั้ง ครูซัตตันพยายามฝึกหัดการกีฬาให้แก่นักเรียนด้วยตนเองเสมอ เฉพาะอย่างยิ่งกีฬาฟุตบอล ซึ่งศิษย์เก่าสวนกุหลาบย่อมทราบดี สมัยครูซัตตันอยู่นั้น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้รับโล่รางวัลประจำปีเสมอ ทั้งรุ่นเล็ก รุ่นกลางและรุ่นใหญ่ นอกจากนี้ครูซัตตันยังเป็นผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียนรุ่นต่างๆจัดงานกรีฑานักเรียนประจำปี ควบคุมการกีฬาชกมวย ฯลฯ

กล่าวกันว่าครูซัตตันเป็นผู้ที่นำและริเริ่มกีฬารักบี้ได้นำเข้ามาเล่นในเมืองไทย เมื่อพ.ศ. 2452 ที่ราชกรีฑาสโมสร และเป็นหัวหน้าทีมนี้อยู่หลายปี กีฬาประเภทนี้ ต่อมาภายหลังปรากฏว่าเป็นที่นิยมของนักศึกษาไทยเป็นอันมาก นอกจากนั้นครูซัตตันยังเคยได้รับถ้วยพระราชทานเมื่อ พ.ศ. 2472 เคยเป็นผู้ตัดสินฟุตบอลแข่งขันรุ่นสำคัญๆมามากครั้ง กล่าวกันว่า ครูซัตตันเป็นผู้ดัดแปลงสนามกอล์ฟที่ราชกรีฑาสโมสรจาก 9 หลุมเป็น 18 หลุม กับเป็นผู้ดัดแปลงสนามทั้งหมดให้ปลูกด้วยหญ้านวลน้อยตลอดทั้งสนามด้วย

วิชาที่ครูซัตตันสนใจมากที่สุดคือ ภูมิศาสตร์ ฉะนั้นใน พ.ศ. 2467 จึงได้รับเลือกเป็นสมาชิกสมาคมภูมิศาสตร์ ณ กรุงลอนดอน (The Royal Geographical Society) โดยแต่งตำราเรียนไว้ 3 เล่ม ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้ใช้ในโรงเรียนได้ในประเภทไม่บังคับ คือ ภูมิศาสตร์สยาม, ภูมิศาสตร์สากลอย่างย่อ แต่งร่วมกับหลวงปิยวิทยาการ (ปีย ปิยวิทยาการ), How to Write English Letters